Disease
Home > Disease
Dashboard
รายงานไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ลักษณะโรค : เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน เชื้อก่อโรค ได้แก่ เชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) โดยลักษณะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มีรูปร่างเป็นทรงกลม (spherical) หรือ เป็นสาย (filamentous form) ขนาด 80-120 nm. (รูปที่ 1) สามารถจําแนกออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ, บี และ ซี คุณสมบัติการเป็นแอนติเจนของโปรตีน ที่เป็นโครงสร้างที่เสถียรอยู่ภายใน ได้แก่ นิวคลีโอโปรตีน และแมตทริกซ์โปรตีน เป็นตัวจําแนกชนิดของไวรัส ไวรัส ไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ แบ่งเป็น subtypes โดยไกลโคโปรตีนที่ผิวของไวรัส 2 ชนิด คือ ฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin, H) และนิวรามินิเดส (neuraminidase, N) (รูปที่ 2)
รูปที่ 1 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)
รูปที่ 2โครงสร้างของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ
(Schematic model of influenza A virus)
การติดต่อ : เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย สามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ เชื้ออยู่ในอากาศ ได้หลายชั่วโมง โดยเฉพาะ ในฤดูหนาวและความชื้นต่ำ ระยะการติดต่อของโรค 3 - 5 วัน ในเด็กอาจถึง 7 - 10 วัน หลังจากที่มี อาการป่วย
ระยะฟักตัวของโรค : 1 - 3 วัน
การวินิจฉัยโรค : ในการวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ แพทย์มักพิจารณาได้จาก อาการที่แสดงและการตรวจร่างกายเป็นหลัก ในรายที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือสงสัยว่ามีการระบาด แพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการในน้ำมูกหรือเสมหะ โดยตรวจหาแอนติเจน (antigen) ของเชื้อจากน้ำมูก หรือ เสมหะ โดยวิธีอีไลซ่า (Enzyme Linked Immuno Sorbance Assay, ELISA) ตรวจ Viral RNA Amplification, ตรวจ serum ระยะ acute และ convalescent จะช่วยยืนยันการวินิจฉัย
การรักษา : ใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก และสามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้
1. รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ
2. เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ ด้วยน้ำที่ไม่เย็นจัด
3. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากเพียงพอ และควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ รสไม่จัด
5. นอนพักผ่อนมาก ๆ ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
6. ผู้ป่วยที่มีไข้เกิน 7 วัน หรือมีอาการหอบเหนื่อย หรือสงสัยว่าเป็น ปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกัน :
1. ป้องกันการแพร่เชื้อโดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก จมูก เวลาไอจาม หรือสวมหน้ากากอนามัย v 2. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะน้อยกว่า 1 – 2 เมตร ไม่ใช่แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสิ่งของผู้ป่วย
4. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด ของไข้หวัดใหญ่
5. เมื่อป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
6. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
อ้างอิง
1. องค์ความรู้ (Factsheet) เรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่ https://www.pidst.or.th/userfiles/f2.pdf
2. คู่มือแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อหรืออาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ http://203.157.181.13/cdyaso/flu/cpg_influ.pdf
3. คู่มือโรคติดต่อที่สำคัญ https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000319/pdf/manual.pdf
รายงานการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่
รายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา
รายงานผลการเฝ้าระวังเชื้อทางเดินหายใจ โครงการ FLU-VE
แนวโน้มการเกิดโรค
แนวทางมาตรการ
โรงเรียน
ค่ายทหาร
สื่อประชาสัมพันธ์
ผลการให้บริการการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ (work load) ปีงบประมาณ 2566
- จำนวนผู้รับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำแนกตามกลุ่มผู้รับบริการ (work load) ปี พ.ศ. 2566