Disease

Home > Disease

โรคไข้หูดับ

ข้อมูลโรคไข้หูดับ

  • เชื้อก่อโรค

         โรคไข้หูดับ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ในสกุล Streptococcus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวก สามารถสร้างแคปซูลและสลายเม็ดเลือดแดง มีการจัดแบ่งเชื้อ  ตามลักษณะของแอนติเจนบนผิวแคปซูลอย่างน้อย 34
ซีโรไทป์ ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อแต่ละซีโรไทป์แตกต่างกัน ซึ่งพบว่าซีโรไทป์ที่มีความรุนแรงสูงในการก่อโรคในคน คือ serotype 2


1
 
 
 
2 (1) 

 
ภาพ  (ซ้าย) ลักษณะโคโลนีของเชื้อ S. suis บนอาหาร sheep blood agar

(ขวา) ลักษณะของเชื้อ S. suis ติดสีแกรมบวกรูปกลม

รูปภาพประกอบจาก The Korean Journal of Laboratory Medicine DOI:10.3343/kjlm.2011.31.3.205

  • สัตว์รังโรค

         หมู โดยปกติเชื้อจะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนของหมู โดยเฉพาะที่ต่อมทอลซิล และโพรงจมูก หากหมูมีอาการป่วยจะพบเชื้อในกระแสเลือด สามารถติดต่อหมูตัวอื่นได้ทางตรงผ่านระบบทางเดินหายใจจากการติดต่อ nose – to – nose contact เป็นหลัก และจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เช่น จากแม่หมูสู่ลูกหมูผ่านทางมดลูกหรือช่องคลอด ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อภายในฟาร์มส่วนหนึ่งเกิดจากแม่หมูสู่ลูกหมู และส่วนใหญ่มักพบการแพร่กระจายของเชื้อเมื่อลูกหมูหลายตัวถูกย้ายเข้ามาเลี้ยงรวมกันในช่วงของการหย่านม โดยปกติหมูที่มีการติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมอาจทำให้เกิดโรคแบบแสดงอาการได้ เช่น การเลี้ยงที่มีความหนาแน่นมากเกินไป การระบายอากาศได้ต่ำ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน การสัมผัสกันของสุกรที่อายุต่างกันมากกว่า 2 สัปดาห์ และการติดเชื้อร่วมกันกับเชื้อชนิดอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายหมูอ่อนแอเชื้อจะฉวยโอกาสจนเป็นเหตุให้เกิดอาการสมองอักเสบ ข้ออักเสบแบบรุนแรง กล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งอาการทางระบบประสาทจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อในฝูง โดยพบว่า การเดินขาไม่สัมพันธ์กัน นอนขาตะกุยกัน มีอาการชักเกร็ง กรอกตาไปมา  เยื่อบุตาบวมแดง เป็นต้น และอาจติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน  กลุ่มหมูที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อคือ ลูกหมูหย่านม หมูขุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูที่อยู่ในช่วงอายุ 8 – 15 สัปดาห์

  • การติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน

         คนสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล และสัตวแพทย์ ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุตา รวมถึงการรับประทานเนื้อหมู เครื่องใน เลือด และผลิตภัณฑ์จากหมูที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และการใช้อุปกรณ์ปรุงอาหาร เช่น มีด เขียง ตะเกียบ ช้อน หรือภาชนะรวมกันกับเนื้อหมูดิบก็ทำให้เกิดการติดเชื้อนี้ได้

  • ระยะฟักตัวและอาการในคน

          ระยะฟักตัวหลังสัมผัสเชื้อประมาณ 1 – 14 วัน อาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ คอแข็ง (neck stiffness)  ผื่นผิวหนัง มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดที่ผิวหนังในรายที่รุนแรง ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบพบการได้ยินผิดปกติอาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวก หรือ หูดับ ถาวร ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แก่ ช็อค การหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน หรือ ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต หลังจากที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจมีความผิดปกติของการทรงตัว

  • การรักษา

        ผู้ป่วยอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันได้มาก หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยประกอบด้วย

  1. การรักษาตามอาการหรือการรักษาประคับประคอง (symptomatic / supportive treatment) ตาม กลุ่มอาการของผู้ป่วย เช่น กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีความรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น ซึม ต้องระมัดระวังเรื่องการหายใจป้องกันการสำลัก รายที่มีอาการรุนแรง สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องระมัดระวังเรื่องการให้สารน้ำที่เหมาะสมในเวลาที่รวดเร็ว รวมทั้งการรักษาประคับประคองตามระบบที่ผิดปกติ เช่น ช่วยการหายใจด้วยวิธีต่างๆในรายที่มีการหายใจล้มเหลว ฟอกไตอย่างทันท่วงทีและโดยเทคนิคที่เหมาะสมในรายที่พบไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น
  2. การรักษาจำเพาะด้วยยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพกลุ่ม Beta-lactams เช่น Penicillin, Cephalosporins และยาในกลุ่ม Fluoroquinolones เป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคติดเชื้อ S. suis ทั้งในคนและในหมู แต่เริ่มมีรายงานเชื้อ S. suis ดื้อยามาจากหลายภูมิภาค สำหรับในประเทศไทย การศึกษาโดยสุกัญญา ยงเกียรติตระกูลและคณะ เมื่อปี 2562 รายงานว่า พบเชื้อ S. suis ที่แยกเชื้อได้จากหมู เริ่มดื้อยากลุ่มต่าง ๆ แต่เชื้อ S. suis ซีโรไทป์ 2 หรือซีโรไทป์อื่นๆ ที่แยกเชื้อได้จากคนยังมีความไวต่อยาทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Beta-lactams ทั้ง Penicillin และ Cephalosporins เจนเนอเรชั่นที่ 3 เช่น Ceftriaxone หรือ Cefotaxime กลุ่ม Macrolides ทั้ง Erythromycin และ Azithromycin เป็นต้น

         เนื่องจากการรักษาโรคติดเชื้อ S. suis ในคน มักเป็นผู้ป่วยที่อาการรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ลิ้นหัวใจอักเสบ ดังนั้นควรพิจารณารักษาโดยเลือกใช้ยาต้านจุลชีพชนิดใดชนิดหนึ่งหยดทางหลอดเลือดดำ ดังนี้

          1) Penicillin G sodium ขนาดสูงตั้งแต่ 1-2 ล้านยูนิต หยดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 4-6 ชั่วโมง

        2) Ceftriaxone ขนาด 2 กรัมหยดเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง หรือ Cefotaxime ขนาด 2 กรัมหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ทุก 8 ชั่วโมง

        3) รายที่มีประวัติแพ้ Penicillin ควรเลือกใช้ Vancomycin ขนาด 25-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. ตามด้วยขนาด 15-20 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. และปรับขนาดยาตามการทำงานของไตหลังจากนั้น

        เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นชัดเจน เช่น ไข้ลดลง ระดับความรู้สึกตัวดีขึ้น หลังการรักษาด้วยยาทางหลอดเลือดดำนานเกิน 3 -5 วันขึ้นไป อาจพิจารณาปรับเป็นยาชนิดรับประทานได้ เช่น ยา Amoxicillin ชนิดรับประทาน หรืออาจเลือกใช้ยา Levofloxacin ในกรณีรักษากระดูกอักเสบ หรือแพ้ยา Penicillin  ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาทั้งหมดขึ้นกับกลุ่มอาการเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ อาจต้องรักษานาน 4 สัปดาห์ กระดูกไขสันหลังอักเสบ ต้องให้การรักษาอย่างน้อย 6 สัปดาห์  เป็นต้น

        ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ S. suis  มักพบว่า ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น การได้ยินเสียงลดลง บ่อยกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ แม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีอัตราตายต่ำ แต่พบว่า หลังการรักษาจะยังมีความผิดปกติทางระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ยินที่ระดับเสียงความถี่สูง ผิดปกติได้บ่อยถึงร้อยละ 50 มีรายงานว่า การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เสริมก่อนและระหว่างการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ  ทำให้อัตราการพบความผิดปกติทางระบบประสาทน้อยกว่ารายที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์

  • การป้องกันและควบคุมโรค

        ในหมู

        เนื่องจากเชื้อ S. suis ปกติเป็น commensal แบคทีเรียในหมู การป้องกันไม่ให้กลายเป็นเชื้อก่อโรคจึงต้องเน้นไปที่การจัดการในฟาร์มอย่างถูกต้อง ด้วยหลักการใหญ่ ๆ 2 เรื่องคือ

  1. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหมูอย่างเต็มที่

       ระยะลูกหมู (อายุแรกเกิดถึง 3 สัปดาห์) มีภูมิคุ้มกันหลักที่ได้รับจากแม่หมูผ่านทางน้ำนมเหลือง (passive immunity) ดังนั้นต้องดูแลสุขภาพแม่หมูในระยะท้ายของการอุ้มท้องให้ดี และจัดการเรื่องให้ลูกหมูแรกเกิดได้รับน้ำนมเหลืองอย่างเต็มที่ เช่น จับลูกหมูเข้าเต้านมของแม่หมู ไม่ย้ายฝากใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการคลอด และอย่าปล่อยให้ลูกหมูหนาว

       ระยะหมูอนุบาลและหมูโต (อายุมากกว่า 3 สัปดาห์) ภูมิคุ้มกันของหมูจะถูกสร้างขึ้นจากการสัมผัสเชื้อ S. suis  จากตัวแม่หมู และสิ่งแวดล้อม (active immunity) โดยจะค่อยๆสร้างภูมิเพิ่มขึ้นสวนทางกับระดับภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะในลูกหมูช่วง 2-4 สัปดาห์ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่มีความไวต่อเชื้อ S. suis เนื่องจากจะไปลดโอกาสของการสัมผัสเชื้อ (colonization) และทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ (active immunity) ของตัวลูกหมูลดลง นอกจากนี้การจัดการที่สำคัญคือ ดูแลให้สุขภาพของลูกหมูให้แข็งแรงดี เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอาหาร เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

  1. ลดจำนวนเชื้อในสิ่งแวดล้อมที่หมูจะได้รับสัมผัส ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

         การที่หมูจะป่วยหรือไม่นั้น นอกจากระดับของภูมิคุ้มกันที่สูงแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อโรคที่ได้รับจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นการจัดการที่ดี เช่น การล้างทำความสะอาดคอกและโรงเรือนให้สะอาดที่สุด การพักโรงเรือนก่อนการนำหมูชุดใหม่เข้ามาเลี้ยงที่นานเพียงพอเพื่อฆ่าเชื้อ (มากกว่า 7 วัน) การเลี้ยงหมูด้วยความหนาแน่นที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ การจัดการเรื่องคุณภาพอากาศและการระบายอากาศที่เหมาะสมกับหมูในแต่ละช่วงอายุ การคัดแยกเลี้ยงหมูโดยจำแนกตามคุณภาพและสุขภาพของหมูในแต่ละโรงเรือน จะลดโอกาสติดเชื้อก่อโรคได้

         ในคน

  1. กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์

         เนื่องจากเชื้อโรค S. suis ส่วนใหญ่พบในหมูและไม่แสดงอาการ ไม่มีข้อบ่งชี้หรืออาการในสัตว์ที่บ่งบอกว่าสัตว์มีเชื้อนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ควรป้องกันและระวังตนเองในการเลี้ยงหรือจับหมูเพราะมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากหมูที่เป็นพาหะได้ ควรป้องกัน ดังนี้

  • การทำความสะอาดคอก ควรใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการสัมผัสกับของเสียมูลหรือน้ำจากคอกหมู หรือเมื่อต้องเข้าไปทำงานในคอกหมู
  • หลีกเลี่ยงจากการจับซากหมูที่ตายด้วยมือเปล่า และหมูควรได้รับการวินิจฉัยสาเหตุการตายจากสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม
  • การทำลายซาก ควรฝังให้ลึกประมาณ 2 เมตร และโรยปูนขาวที่ก้นหลุมและบนตัวสัตว์ก่อนทำการกลบดิน
  • ไม่ควรเคลื่อนย้ายซากหมูที่ตายออกนอกบริเวณฟาร์มเพื่อจำหน่ายหรือบริโภค
  • ล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับหมูหรือทำความสะอาดคอกสัตว์
  1. กลุ่มผู้ชำแหละซากสัตว์หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์

        ผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์จะเป็นผู้ที่สัมผัสโดยตรงกับซากสัตว์ หากซากสัตว์มีเชื้อโรคและไม่ตระหนักหรือมีการป้องกันที่ดี อาจจะทำให้โอกาสสูงในการติดเชื้อได้ ดังนั้นผู้ที่ทำงานโรงงานฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อสัตว์จะต้องมีการป้องกันตนเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย และสุขวิทยาส่วนบุคคล นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ก็ต้องมีสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปสู่เนื้อสัตว์ ซึ่งอาจปนเปื้อน โดยการสัมผัสโดยตรง ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร

       2.1 ไม่ซื้อสัตว์ป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดมาชำแหละ

       2.2 การรับหมูเข้ามาต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

       2.3 ปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะของพนักงาน (Personal hygiene) ดังนี้

             2.3.1 การตรวจสุขภาพพนักงาน

             พนักงานที่ปฏิบัติงานในโรงฆ่าสัตว์ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ และไม่เป็นพาหะนำโรคที่มีผลต่อการผลิตเนื้อสัตว์ เช่น วัณโรค โรคเรื้อน ไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีการดำเนินการตรวจสุขภาพของพนักงานก่อนจะรับเข้าทำงานในโรงฆ่าสัตว์ และจัดให้มีการตรวจสุขภาพของพนักงานอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานที่เจ็บป่วย หรือเป็นพาหะของโรค สัมผัสกับเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะปนเปื้อนสู่กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ได้

            2.3.2 พนักงานที่เจ็บป่วย

            กรณีพนักงานเจ็บป่วย หรือเป็นโรคซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหารเช่น ท้องร่วง  โพรงจมูกอักเสบ อาเจียน เป็นไข้ เจ็บคอ เป็นแผลติดเชื้อ มีหนอง เป็นต้น ต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทราบ และ มีการดำเนินการจัดการ เช่น แยกพนักงานที่เจ็บป่วยไปทำหน้าที่อื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสเนื้อสัตว์ หรือให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาให้หายก่อนเข้าปฏิบัติงานใหม่ กรณีที่เกิดบาดแผลที่มือหรือแขน ให้ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ชนิดที่กันน้ำได้ และสวมถุงมือทับก่อนการปฏิบัติงานที่สัมผัสกับเนื้อสัตว์ เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากบาดแผลปนเปื้อนสู่เนื้อสัตว์

            2.3.3 การแต่งกาย และการล้างมือ

            1) สวมรองเท้าบู๊ท สำหรับพนักงานใช้ปฏิบัติงาน

            2) ล้างมือ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด โดยล้างตั้งแต่มือถึงข้อศอก ใช้แปรงขัดถูบริเวณซอกเล็บให้สะอาดหลังจากนั้นล้าง 
                ด้วยน้ำสะอาด และแช่มือจนถึงข้อศอกในน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 30 วินาที จากนั้นทำให้มือแห้ง โดยใช้ลมร้อนเป่า หรือ
                ใช้กระดาษเช็ด
            3) สวมชุดปฏิบัติงาน สวมหมวกคลุมผม และหน้ากากอนามัย

            4) สวมผ้ากันเปื้อน และถุงมือ

            5) ทุกครั้งที่พนักงานออกนอกบริเวณผลิตให้เปลี่ยนชุดปฏิบัติงานออก และหากเข้ามาปฏิบัติงานใหม่ให้ล้างมือ และสวม                    ชุดปฏิบัติงานก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง

3 (1) 
 
ภาพ พนักงานจุ่มเท้าในน้ำยาฆ่าเชื้อ และล้างมือในอ่างที่ใช้เท้าเหยี่ยบ
 
       3. กลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อหมูสดในแผงทั่วไป/ในตลาด

           ผู้จำหน่ายเนื้อหมูนับว่าเป็นจุดแรกที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องป้องกันการนำเชื้อโรคนี้สู่ผู้บริโภค

           3.1 เนื้อหมูที่นำมาจำหน่ายควรมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจรับรองจากพนักงานตรวจเนื้อ โดยปกติแล้วเนื้อหมูที่ผ่านจากโรงงานฆ่าสัตว์จะมีตราประทับรับรองที่ซากทุกซากที่จะนำสู่การจำหน่าย และควรมีใบรับรองการนำ
                 เนื้อหมูจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน

           3.2 ไม่ซื้อเนื้อหรือผลิตภัณฑ์หมูที่ป่วยหรือสงสัยป่วยมาจำหน่าย

           3.3 ควรจำหน่ายเนื้อสดทุกวัน หากเหลือค้างคืนควรนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย

           3.4 จัดให้มีคีมคีบเนื้อสัตว์หรือถุงมือที่ใช้ครั้งเดียว เพื่อไม่ให้ลูกค้าสัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรงและล้างมือหลังการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกครั้ง

           3.5 การเก็บเนื้อหมูสดระหว่างวันที่จะนำมาจำหน่าย หรือเก็บค้างคืนไม่เกิน 5 วันต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ ไม่เกิน 5ºC ในตู้เย็นหรือแช่น้ำแข็งตลอดระยะเวลาการเก็บ และหากจำเป็นต้องเก็บนานหลายเดือน จะต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าลบ
                18ºC 

4  5 

ภาพ เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมและมีการปกปิด

           3.6 ควรทำความสะอาดบริเวณพื้น ทางเดิน แผงจำหน่ายสินค้าอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือ  น้ำผง ซักฟอก และฆ่าเชื้อ โดยคลอรีนที่มีความเข้มข้น 100 ส่วนในล้านส่วน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชา
                ต่อ
น้ำ 20 ลิตร) กรณีที่พบผู้ป่วยหรือมี ความเสี่ยง ให้เพิ่มความเข้มข้นของคลอรีนเป็น 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 2 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร) 

           3.7 ผู้จำหน่ายหมูต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ ระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผลที่มือ  ถ้ามีให้ใช้พลาสเตอร์กันน้ำปิดแผล และสวมถุงมือ

           3.8 กรณีจำหน่ายเนื้อหมูในตลาด

                 3.8.1 ปฏิบัติตามข้อ 3.1 – 3.7

                 3.8.2 ควรล้างแผงจำหน่ายอาหารสด และแผงเนื้อสัตว์ชำแหละทุกวัน ในกรณีคราบไขมันน้อย ใช้โซดาไฟชนิด 96% 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร และกรณีคราบไขมันมากใช้โซดาไฟชนิด 96% ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้ง
                         ไว้นาน 15 – 30 นาที

                  3.8.3 ใช้น้ำสะอาดฉีดล้าง ทางเดิน ฝาผนัง และกวาดล้างลงสู่ทางระบายน้ำเสีย เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและสารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดออกให้หมด

                  3.8.4 ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล ในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อควรมีการล้างตลาด ตามหลักการสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

 
6 
 
7 

ภาพ การล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล

 

       4. กลุ่มผู้ปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหาร ในสถานที่จำหน่ายอาหาร

           4.1 ผู้จำหน่ายอาหารต้องผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหาร สำหรับผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารตามบทบัญญัติ  “กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร 2561” (ออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535)

           4.2 ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนปรุง ประกอบและจำหน่ายอาหาร

           4.3 ผู้ปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหารต้องมีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคติดต่อ ระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผลที่มือ ถ้ามีให้ใช้พลาสเตอร์กันน้ำปิดแผล และสวมถุงมือทุกครั้งขณะปฏิบัติงาน

           4.4 เลือกซื้อเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่ได้มาตรฐานหรือแหล่งที่เชื่อถือได้มาปรุง ประกอบอาหาร จะต้องเลือกซื้อเนื้อที่เก็บในความเย็นตลอดเวลา มีสีแดงธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือด ไม่มีกลิ่น เหม็นบูด ที่สำคัญจะต้องไม่มีเม็ดสาคู (ตัวอ่อน  
                 ของพยาธิตัวตืด หรือมีลักษณะผิดปกติอื่นๆ เช่น  ตุ่ม ก้อน ผิวไม่แห้ง หรือแฉะเกินไป มีน้ำเยิ้ม มีการเปื้อนอุจจาระและควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีสัตวแพทย์รับรอง โดยสังเกตจากตราประทับบนหนังที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการ
                 รับรองจากกรมปศุสัตว์)

 

 

          4.5 การเก็บต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด แยกเป็นสัดส่วนเฉพาะโดยมีการแบ่งเป็นชิ้นส่วนในขนาดที่เหมาะสมสำหรับใช้ปรุงในแต่ละครั้ง มีการปกปิดเพื่อป้องกันสัตว์แมลงหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อน

               - ในขณะที่เนื้อสัตว์ที่อยู่ในระหว่างรอการปรุงซึ่งเป็นการเก็บในช่วงระยะเวลาสั้น ให้เก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น ไม่เกิน 10ºC แต่หากไว้ใช้ไม่เกิน 5 วัน ต้องเก็บที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 5ºC และหากเก็บนานหลายเดือน จะต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า
               ลบ 18ºC  (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดอุณหภูมิในการเก็บรักษาอาหารสดในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561)

 10 

ภาพ เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม

              - สำหรับเนื้อสัตว์ที่อยู่ในลักษณะอาหารปรุงสำเร็จ จะต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด ฝาปิดมิดชิดและ สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.

          4.6 ก่อนนำไปปรุงต้องล้างให้สะอาด โดยเฉพาะสิ่งสกปรกที่ติดมากับไขมัน ถ้ามีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นแล้วจึงนำมาชำแหละอวัยวะต่างๆ

          4.7 ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนอย่างน้อย 70ºC ในเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาทีเพื่อทำลายเชื้อโรคและตัวอ่อนพยาธิ

          4.8 สำหรับอาหารปรุงสำเร็จ ให้มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารทุกๆ 2 ชั่วโมง ในกรณีมีการใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับ หรือตักอาหาร ระมัดระวังไม่ให้ส่วนของด้ามจับ ตก หล่นหรือสัมผัสกับอาหารเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ 

          4.9 ดูแลสถานที่ปรุงประกอบอาหาร บริเวณพื้น โต๊ะที่นั่ง บริเวณที่รับประทานอาหารให้สะอาดโดยทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอก และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกวันหลังให้บริการ

          4.10 ผู้ปฏิบัติงานที่ดูแลความสะอาดและเก็บขยะ ต้องสวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง สวมหน้ากากอนามัย ใช้ปากคีบด้ามยาวเก็บใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิด นำไปรวบรวมไว้ที่พักขยะ และล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่
                 ทุกครั้ง และอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีภายหลังปฏิบัติงาน

  1. กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

     ก. กรณีเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายอาหารมาบริโภค

  1. เลือกร้านที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ โดยผู้จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะ ส่วนบุคคลที่ดี คือ สวมใส่ผ้ากันเปื้อน หมวก หรือเน็ทคลุมผม รวมถึงต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะปฏิบัติงาน
  2. อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิด มีอุปกรณ์ในการคีบ ตักอาหาร
  3. เลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70ºC ในเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที
    ไม่ซื้ออาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้ จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุกพอ เป็นต้น มารับประทาน

     4. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งสกปรก

     ข. กรณีซื้อเนื้อหมูสดมาปรุง ประกอบเอง

  1. ระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผลที่มือ ถ้ามีให้ใช้พลาสเตอร์ปิดแผลและสวมถุงมือทุกครั้งขณะหั่น เนื้อหมูสด
  2. เลือกซื้อเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากตลาดที่ได้มาตรฐานหรือแหล่งที่เชื่อถือได้มาปรุง ประกอบอาหารจะต้องเลือกซื้อเนื้อที่เก็บในความเย็นตลอดเวลา มีสีแดงธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือด ไม่มีกลิ่นเหม็นบูดที่สำคัญจะต้องไม่มีเม็ดสาคู หรือมีลักษณะผิดปกติอื่นๆ เช่น ตุ่ม ก้อน ผิวไม่แห้ง หรือแฉะเกินไป มีน้ำเยิ้ม มีการเปื้อนอุจจาระ
11 

ภาพ เนื้อหมูสดที่ควรเลือกซื้อ

 

12

 

ภาพ เนื้อหมูสดที่ไม่ควรเลือกซื้อ(มีสีแดงผิดปกติ)

3. การเก็บต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด แยกเป็นสัดส่วนเฉพาะโดยมีการแบ่งเป็นชิ้นส่วนในขนาดที่เหมาะสมสำหรับใช้ปรุงในแต่ละครั้ง

         - สำหรับเนื้อที่จะต้องการเก็บไว้นานจะต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 0ºC

         - ในขณะที่เนื้อสัตว์ที่อยู่ในระหว่างรอการปรุงให้เก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น คือ 5–7ºC

         - สำหรับเนื้อสัตว์ที่อยู่ในลักษณะอาหารปรุงสำเร็จ จะต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด ฝาปิดมิดชิดและสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.

  1. ก่อนนำไปปรุงต้องล้างให้สะอาด โดยเฉพาะสิ่งสกปรกที่ติดมากับไขมัน ถ้ามีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นแล้วจึงนำมาชำแหละอวัยวะต่างๆ

     5.ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนอย่างน้อย 70ºC ในเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาทีเพื่อทำลายเชื้อโรคและตัวอ่อนพยาธิ ไม่ควรบริโภคเนื้อหมู เลือด และอวัยวะภายในที่ดิบ หรือปรุงสุก ๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ เป็นต้น

  1. สำหรับอาหารปรุงสำเร็จ ให้มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารทุก ๆ 2 ชั่วโมง ในกรณีมีการใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับ หรือตักอาหาร ระมัดระวังไม่ให้ส่วนของด้ามจับ ตก หล่นหรือสัมผัสกับอาหารเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม หลังสัมผัสสิ่งสกปรก หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หลังจากกลับจากโรงพยาบาล และหลังกลับมาจากนอกบ้าน

อ้างอิง

  1. หนังสือ “แนวทางการป้องกันควบคุมโรคสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส”http://klb.ddc.moph.go.th/dataentry/handbook/form/160
  1. ธีรศักดิ์ ชักนำ. คู่มือแนวทางการเฝ้าระวัง และสอบสวนโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส โรคไข้หูดับ. นนทบุรี: สำนักระบาดวิทยา: 2552.



แนวทางมาตรการ

มาตรการดำเนินงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หูดับสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

  1. มาตรการป้องกันโรคไข้หูดับ
    • ให้ความรู้แก่ประชาชน
      • ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งเครื่องในและเลือดดิบ และให้เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้
      • เมื่อมีแผลที่มือห้ามสัมผัสเนื้อ/เลือด/เครื่องใน/ผลิตภัณฑ์จากหมูโดยตรง
      • ไม่ควรเก็บผลิตภัณฑ์จากหมูและเนื้อชนิดอื่นๆ ในภาชนะเดียวกันเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ
      • หลังสัมผัสเนื้อหมูให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง
      • ไม่ใช้เขียงและมีดกับเนื้อหมูดิบและอาหารปรุงสุกร่วมกัน
      • ไม่ใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกร่วมกัน
      • ในการปรุงเนื้อหมูให้ใช้น้ำต้มเดือด หรือใช้ความร้อนอย่างน้อยที่ 70 องศาเซลเซียส 10 นาที หรือสังเกตเนื้อหมูที่ปรุงด้วยความร้อนว่าปราศจากสีแดง
      • ไม่นำซากสุกรที่ป่วยหรือ/ป่วยตายมามาปรุงเป็นอาหาร หรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด และให้ทำการฝังกลบหรือเผา โดยให้สวมถุงมือขณะจับซากสุกรทุกครั้ง พร้อมล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
    • เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกในพื้นที่ให้ดำเนินการสอบสวนโรคเพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่เพิ่มเติมโดยเร็ว
    • หากพบการระบาดของผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีแหล่งโรคสงสัยจากที่เดียวกัน ประสานงานไปยังปศุสัตว์ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดำเนินงานป้องกันโรคไข้หูดับจากแหล่งกำเนิดโรค (ประชาสัมพันธ์การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ เฝ้าระวังการระบาดของโรคหมูรวมถึงการตายผิดปกติของหมูในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่ หากแหล่งเกิดโรคอยู่ในฟาร์มใช้มาตรการป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ)
  1. เหตุการณ์เฝ้าระวังและตรวจจับการระบาด
  • เฝ้าระวังอัตราการป่วยและผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ทางคลินิกในมนุษย์ ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส โดยหลังจากซักประวัติการเจ็บป่วยและตรวจร่างกายแล้วไม่สามารถอธิบายสาเหตุของไข้ได้ ร่วมกับ มีประวัติเสี่ยงสัมผัสหรือรับประทานหมูหรือเลือดหมูดิบภายใน 2 สัปดาห์
  • พบผู้ป่วยเข้าตามเงื่อนไขการตรวจสอบข่าวของกรมควบคุมโรคให้รายงานเข้าระบบตรวจสอบข่าวของกรมควบคุมโรค
  • พบผู้ป่วยเข้าตามเกณฑ์การออกสอบสวนโรคของทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคให้ดำเนินการสอบสวนโรคตามแนวทางการป้องกันควบคุมโรคสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
  • เฝ้าระวังการระบาดของโรคหมูจากเชื้อสเตร๊พโตค็อกคัส ซูอิสรวมถึงการตายผิดปกติของหมูในฟาร์มและรอยโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคในโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่ หากพบรายงานการระบาดให้เพิ่มการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่
  1. การแนะนำผู้ป่วย
  • หากมีอาการ ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติเลี้ยงหมู ชำแหละหมู หรือสัมผัสเนื้อหมูมือเปล่า หรือรับประทานเนื้อ/เลือด/เครื่องใน/ผลิตภัณฑ์จากหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  1. การทำลายเชื้อไข้หูดับ
  • การทำความสะอาดอุปกรณ์และสิ่งของ สถานที่ปนเปื้อนให้สวมถุงมือยาง และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาไลโซล คลอรีน โซดาไฟ เป็นต้น เพื่อทำลายเชื้อโรค
     5. การดำเนินการโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดโรคไข้หูดับ
  • บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
  • สร้างความรู้และความตระหนักเรื่องโรคไข้หูดับ แก่
    • ประชาชนทั่วไป ประชาชนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง กลุ่มประชาชนที่ดื่มสุรา
    • กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมู กลุ่มผู้ประกอบอาชีพรับจ้างโรงฆ่าสัตว์ ผู้ประกอบอาชีพขายเนื้อหมู และผู้ปรุงประกอบอาหาร
  • ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบผู้ป่วยในชุมชนให้ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าโรคจะสงบและดำเนินการเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงโรคในชุมชน และสอบสวนโรคในกลุ่มที่เสี่ยง ตลาด และโรงฆ่าสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรค

     

    กรมควบคุมโรค กองโรคติดต่อทั่วไป

    โทร. 0 2590 3177 - 78

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
เปิดใช้งานตลอด
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้
คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลการใช้งาน (Performance Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ ทราบถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ ยังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ถึงแม้ว่า ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ ไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้
คุกกี้เพื่อการใช้งานเว็บไซต์ (Functional Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ จดจำตัวเลือกต่าง ๆ ที่ท่านได้ตั้งค่าไว้และช่วยให้เว็บไซต์ส่งมอบคุณสมบัติและเนื้อหาเพิ่มเติมให้ตรงกับการใช้งานของท่านได้ เช่น ช่วยจดจำชื่อบัญชีผู้ใช้งานของท่าน หรือจดจำการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าขนาดฟอนต์หรือการตั้งค่าต่าง ๆ ของหน้าเพจซึ่งท่านสามารถปรับแต่งได้ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้อาจส่งผลให้เว็บไซต์ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
คุกกี้เพื่อการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)
คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ ทั้งนี้ หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของ ศูนย์รวมข้อมูลโรคติดต่อ แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน
บันทึกการตั้งค่า